
การประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ ในปัจจุบันนี้สามารถนำมาใช้ในรูปแบบเส้นทางที่หลากหลาย โดยเฉพาะพื้นฐานของการเรียนการสอน ด้วยการนำแหล่งข้อมูล ภาพ เสียง ตลอดจนการปฏิสัมพันธ์ระหว่างสมาชิกในเครือข่ายสังคมออนไลน์มาเป็นเครื่องมือ ทำให้เกิดการเรียนรู้ได้ทุกเวลาและทุกสถานที่ หากแต่อย่างไรก็ตามเมื่อนำมาประยุกต์ใช้ในการเรียนการสอน จำเป็นต้องคำนึงถึงองค์ประกอบในหลายๆ ด้าน ดังนี้…
การประยุกต์ใช้สื่อสังคมออนไลน์ กับ การเรียนการสอน
ความร่วมมือ
คือ การแบ่งกลุ่มผู้เรียนออกเป็นกลุ่มย่อยตามหัวข้อที่ผู้เรียนสนใจ อีกทั้งยังมีการกำหนดหน้าที่ที่แตกต่างกัน สมาชิกทุกคนในกลุ่มต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ ด้วยการใช้สื่อสังคมออนไลน์เป็นเครื่องมือ
สื่อสาร
คือ การใช้ช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ ติดต่อสื่อสารซึ่งเป็นสิ่งสำคัญของสังคมมนุษย์ ใช้ในการแลกเปลี่ยน พูดคุย สอบถาม ติดตาม รวมทั้งแสดงความคิดเห็นเพื่อแลกเปลี่ยนทัศนะคติตลอดจนเรียนรู้ซึ่งกัน ในส่วนของเครื่องมือสื่อสารควรเลือกให้เหมาะสมกับผู้เรียนและกิจกรรม เช่น E-mail, WebBoard, Chat เป็นต้น
บริบททางสังคม
คือ องค์ประกอบทางด้านสิ่งแวดล้อม ความสัมพันธ์, สถานที่, เวลา และสถานการณ์ที่ให้ผู้เรียนเข้าไปร่วมทำกิจกรรมโดยใช้พื้นที่ของสื่อสังคมออนไลน์ และสมาชิกทุกคนต้องเข้าร่วมกลุ่มกันอย่างเป็นระเบียบ ถึงจะทำกิจกรรมได้อย่างราบรื่น
เทคโนโลยี
คือ การจัดสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ ด้วยการใช้เทคโนโลยีสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อเป็นสื่อกลางติดต่อสื่อสาร ตลอดจนเพิ่มศักยภาพในการเรียนรู้ เช่น Facebook, Blog, YouTube, แบบทดสอบออนไลน์ เป็นต้น รวมไปถึงการเชื่อมโยงไปยังองค์ความรู้จากทรัพยากรสารสนเทศอื่นๆ
แบ่งปัน
คือ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ซึ่งจัดเป็นขั้นตอนสำคัญในการจัดการองค์ความรู้ ข้อมูล, แหล่งข้อมูล, ภาพ, เสียง รวมทั้งเนื้อหาผ่านสื่อสังคมออนไลน์ เพื่อนำมาเผยแพร่ให้แก่เพื่อนสมาชิกในกลุ่ม เช่น การแบ่งปันด้วยการใช้ Google Drive, Google Docs, Google Presentation และอื่นๆ
ความสัมพันธ์
คือ การให้สมาชิกทุกคนได้มีส่วนร่วม ทั้งในส่วนของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ช่วยเหลือซึ่งกันในเรื่องที่อีกคนไม่ถนัด ภายในกลุ่ม ก่อให้เกิดสายใยอันแข็งแกร่ง ในตัวทุกคนอย่างสม่ำเสมอ ในส่วนของกิจกรรมก็จะมุ่งเน้น ในเรื่องของการนำความรู้มาแลกเปลี่ยนกัน รวมทั้งร่วมแสดงความคิดเห็น ตั้งประเด็นการศึกษา ตามวัตถุประสงค์ของหัวข้อนั้นๆ
ใช้เครื่องมือสร้างสรรค์เนื้อหา
ด้วยการที่ให้สมาชิกภายในกลุ่ม – นอกกลุ่มหากแต่อยู่ในเครือข่ายเดียวกัน มีส่วนร่วมในการสร้างสรรค์ พร้อมทั้งนำเสนอข้อมูลเนื้อหา พร้อมเปิดให้แสดงความคิดเห็นด้วยการโพสต์ และ Comment โต้ตอบกันได้อย่างง่ายดาย ทำให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพ ทางด้านนักเรียนเองก็จะเป็นทั้งผู้รับและผู้ให้ เช่น แบ่งปันข้อมูล, การแสดงความคิดเห็น, โต้ตอบด้วยความมีสติ, นำเสนอแผนงาน, ทำแผนที่ความคิด รวมทั้งทำแบบจำลองการเรียนอย่างเป็นระบบ